วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

เด็กไทยอ่อนคิดวิเคราะห์ ฉุดคะแนนสอบตกต่ำ??



เด็กไทยอ่อนคิดวิเคราะห์ ฉุดคะแนนสอบตกต่ำ??

ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันการศึกษาของไทยมักจะสอนในลักษณะของการให้เด็กใช้การท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการทำให้เด็กไม่ได้ใช่สมองในการคิด วิเคราะห์ และค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมนอกจากบทเรียน โดยสิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ มองดูได้ง่ายๆจากผลการสอบต่างๆ ที่ทุกวันนี้ที่ระบบของการศึกษาของไทยได้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น ผลที่ได้ออกมาคือคะแนนของเด็กมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะโทษที่ตัวเด็กอย่างเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะคงต้องพูดถึงเรื่องระบบการศึกษา การออกข้อสอบ และอีกหลายปัจจัย เพื่อจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้

โดยล่าสุดในการจัดสอบ GAT/PAT คะแนนของผลสอบที่ออกมาปรากฏว่าผลสอบของ GAT 1

ที่เป็นข้อสอบเกี่ยวกับทางด้านของการคิดวิเคราะห์แก้ไขโจทย์ปัญหา มีคะแนนผลการสอบเฉลี่ยที่น้อยที่สุด โดยช่วงคะแนนของผู้สอบทั้งหมดอยู่ที่ 0.00-30.00 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.12 % ของผู้เข้าสอบทั้งหมดจำนวน 100,512 คน หลังจากที่ผลคะแนนสอบออกมานั้นทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ตระหนักถึงปัญหาคะแนนของเด็ก ที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนตกต่ำลงทุกปีอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ สทศ. และ สพฐ. จึงกำลังเร่งหาทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างยั่งยืน เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
 
ถามถึงมุมมองของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการการศึกษาถึงมุมมองในด้านการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ หรือ บ็อบ บดินทร์ นักข่าว นักแสดง และผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา กล่าวว่า
 
ทุกวันนี้การออกข้อสอบของไทยยังไม่ค่อยนิ่งว่าแนวข้อสอบจะออกมารูปแบบใด จึงไม่สามารถเอาสถิติจากอดีตมาเทียบกับปัจจุบันได้ ทำให้มีทั้งข้อสอบที่ยากและง่ายคละเคล้ากันไป บางครั้งข้อสอบที่ยากจนเกินไปก็อาจทำให้ค่าเฉลี่ยต่ำลงได้ แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกว่าทุกครั้งในจำนวนเด็กที่สอบทั้งหมด นอกจากเด็กที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว ก็ยังมีเด็กสอบได้คะแนนสูงอยู่ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่ทำข้อสอบได้อยู่ และข้อสอบไม่ได้ยากเกินความสามารถที่จะทำได้ สิ่งที่รบกวนสมาธิของเด็กอาจเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค ที่ช่วยให้การท่องโลกโซเชี่ยลมีเดียเพื่อความบันเทิงมากเกินไปทำให้ขาดสมาธิในการเรียน ซึ่งถือเป็นการทดสอบเด็กในยุคนี้เช่นกัน เด็กที่ตั้งใจและมีสมาธิในการเรียนและหมั่นค้นคว้าความรู้ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ส่วนเด็กที่ภูมิต้านทานต่ำไขว้เขวไปตามสิ่งยั่วยุ ผลลัพธ์ก็จะออกมาต่างกัน

"ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีข้อสอบคิดวิเคราะห์ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มข้อสอบคิดวิเคราะห์เข้ามามีบทบาทกับการศึกษามากขึ้น ผมมองว่าการวิเคราะห์เป็นเรื่องดีสำหรับเด็ก และดีสำหรับการเรียนรู้ คนที่เก่งแต่ท่องจำอย่างเดียว พอถึงเวลาที่ต้องทำงานจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ แนวข้อสอบแบบนี้ทำให้เด็กต้องใช้ความคิดมากขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับตัวเด็ก การศึกษาของไทยควรเพิ่มหลักสูตรการคิดวิเคราะห์เข้าไปในบทเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสอบและแนวทางการเรียนสมัยใหม่ แต่หากเพิ่งเริ่มต้นก็ต้องมองผลในระยะยาว อีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องของงานที่เยอะเกินไป ทำให้เด็กไม่ค่อยได้ใช้เวลากับงานชิ้นนั้นๆอย่างแท้จริง

หลายโรงเรียนอาจารย์เน้นเชิงปริมาณมากไป อาจารย์ทุกวิชาต้องการรายงาน แต่ก็ยังมีหลายโรงเรียนที่เน้นที่คุณภาพของงานเป็นหลัก ผมมองว่าในหนึ่งเทอมมีรายงานแค่ 2-3 ชิ้นก็น่าจะพอ แต่ต้องเป็นรายงานที่เด็กสามารถนำเสนอได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ส่งรายงานแล้วจบ การอ่านจะส่งเสริมให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ อาจารย์ต้องให้เด็กนำเสนอรายงานตัวเองหน้าห้อง และเด็กต้องรู้เรื่องที่ตัวเองทำรายงานมาอย่างแท้จริง"

สำหรับแนวทางในการเรียนที่อยากให้เกิดขึ้น บ็อบ บดินทร์ กล่าวว่า
 
ต้องหาตัวตนเด็กแต่ละคนให้เจอก่อนว่าเด็กคนนี้ถนัดด้านใด ทุกวันนี้การเรียนใส่ความรู้ให้เด็กมากเกินไป ทั้งเรื่องที่เด็กควรรู้และไม่ควรรู้ทำให้บางครั้งใส่ไปเต็มร้อยเด็กอาจรับได้แค่สิบ  ความรู้แบบพอเหมาะพอดี เป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่า ตนเข้าใจว่าประเทศไทยต้องเริ่มมองหาความเชี่ยวชาญของเด็กแต่ละเพศวัย ต้องส่งเสริมให้เด็กไปถึงปลายทางอย่างเต็มที่ บางเรื่องที่ไม่จำเป็นให้เด็กเรียนรู้เพียงกระบวนการทำก็ได้ ไม่ต้องเจาะลึกให้เสียเวลา อย่างการศึกษารูปแบบอินเตอร์ ที่จะเริ่มให้เด็กค้นหาตัวเองก่อน จากนั้นจึงให้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ แล้วเด็กจะสนใจการเรียนมากขึ้น ตนเชื่อว่าไม่มีใครมีความรู้รอบด้านอย่างแท้จริง มีแต่คนรู้ลึกในสิ่งที่ตนเองถนัดและสนใจ น้อยคนที่จะเป็นอัจฉริยะบุคคลที่รอบรู้ทุกด้าน เพราะฉะนั้นถ้าจะพัฒนาศักยภาพของเด็กต้องส่งเสริมให้ถูกทาง

"ผมอยากให้เด็กๆทุกคนใช้เวลาในการเรียนให้คุ้มค่า แล้วก็พยายามใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ผลักดันตัวเองออกไปเจอกับสถานการณ์จริงเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์บ้างยามว่าง อย่ามัวเรียนรู้แค่ในห้องเรียน เพราะนอกห้องเรียนก็มีความรู้ให้เราศึกษาค้นคว้าอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การแข่งขันที่มีจัดขึ้นหลายเวที ความรู้ในตำราถ้าตั้งใจจริงก็สามารถเรียนทันได้ แต่ประสบการณ์จากโลกภายนอก ถ้าไม่ค้นหาทำอย่างไรก็ไม่เจอ ผู้ปกครองนับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็ก ถ้ามีเวลาให้กับเขาผลลัพธ์ก็ออกมาดี พ่อแม่อย่าแค่เพียงตั้งความหวัง ต้องลงมือทำไปพร้อมกับเด็กๆด้วย แม้อนาคตอาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจหวัง แต่ก็ได้รู้ว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว "

ที่มาของข้อมูล กระทรวงศึกษาธิการ

http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=3145.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น